Anish Kapoor at the New School

มีโอกาสได้ไปฟังทอร์คของ Anish Kapoor หนึ่งในบอสแห่งวงการประติมากรรมร่วมสมัย( แถมเป็นบอสที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เพราะตัวบอสใหญ่ของสายนี้ก็ม่องไปกันเสียเยอะแล้ว 55 ) เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาซึ่งจัดโดย the New School ร่วมกับ Public Art Fund โดยทอร์คครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากการที่ลุง Anish ต้องมาเปิดงานชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า Descension ซึ่งจัดแสดงที่ Brooklyn Bridge Park ในนิวยอร์คและเพิ่งเปิดให้ทุกคนเข้าชมได้เป็นวันแรกในวันเดียวกันนี่แหละ

Anish Kapoor Talk.jpg

Anish Kapoor เกิดที่มุมไบ ประเทศอินเดียเมื่อปี 1954 และเติบโตขึ้นมาในครอบครัววัฒนธรรมสุดมิกซ์จากคุณแม่ชาวยิวและคุณพ่อชาวฮินดู ตอนวัยรุ่นเริ่มสนใจเข้าเรียนวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าแต่มีปัญหากับตัวเลขและวิชาคณิตศาสตร์เลยลาออกเมื่อเข้าเรียนได้เพียงหกเดือน จากนั้นจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนศิลปะที่ลอนดอนและย้ายไปอยู่และทำงานที่นั่นมาจนถึงปัจจุบัน ใครที่นึกงานของลุงไม่ออกหรือไม่รู้จักลุงมาก่อน ขอให้นึกถึงก้อนถั่วยักษ์สีเงินที่เป็นจุดเช็คพอยท์ของทุกคนที่เมืองชิคาโกในรัฐอิลินอยส์ รับรองว่าต้องร้องอ๋ออย่างแน่นอน

เนื่องด้วย the New School เนื้อแท้แล้วค่อนข้างมีความแข็งแรงทางด้านการเมือง Anish เองแม้จะประกาศตัวเองอยู่บ่อยๆว่าเขาจะไม่ทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงเพราะเขาคิดว่างานที่พูดทางเดียวจะมีชีวิตงานที่สั้น แต่เพื่อให้เข้ากับธีมของผู้จัดงาน Anish ก็ยังอุส่าห์พูดเปิดงานด้วยประกาศกลุ่มคอมมิวนิสต์ ( Communist Manifesto ) ของคาร์ล มาร์กซ์ พาร์ทหนึ่งที่กล่าวว่า 

“สังคมนายทุนสมัยใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าอันก่อให้เกิดกรรมวิธีของระบบการผลิตและแลกเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ก็คล้ายกับผู้วิเศษผู้ไม่สามารถควบคุมพลังของสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมาได้ และผู้วิเศษเหล่านั้นก็เป็นอันต้องเกิดและติดอยู่กับคาถาของเขาเอง” 

Anish กล่าวอธิบายเพิ่มเติมต่อว่ากระบวนการหรือพิธีกรรมทางศาสนา( Ritual ) ก็เป็นอีกสิ่งที่เขาสนใจ โดยเขาพูดว่าพิธีกรรมแต่โบราณมักเริ่มจากเลือดและผืนดิน ( Blood and Earth ) ซึ่งเขาแทนเลือด( เพศหญิง )เป็นเสมือนการวาดภาพและผืนดินเป็นงานประติมากรรม โดยเขาให้ความสนใจในกระบวนการที่ทำให้เกิดพิธีกรรมมากกว่าความหมายของตัวพิธีกรรมเอง งานของเขาจึงเน้นหากระการบวนการใหม่ๆในการเล่าถึงสิ่งที่ง่ายและตรงไปตรงมาในสิ่งที่เขามีความสนใจเป็นพิเศษ( passion ) เช่น ความมืด ความลึก หรือความเป็นหญิง( motherhood ) และคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่เขาพยายามสื่อสารนั้น โดยส่วนที่เป็นศิลปะที่แท้จริงสำหรับลุง Anish นั้นเป็นส่วนที่ควบคุมไม่ได้อันจะเกิดจากการสังเกตผลกระทบของกระบวนการที่เขาพยายามสื่อสารส่วนหนึ่งและการนำไปตีความร่วมกับประสบการณ์ของผู้ชมเองอีกส่วนหนึ่ง โดย Anish อธิบายว่าพื้นที่ตรงกลางระหว่างการควบคุมได้หรือไม่ได้นี่แหละ เป็นที่ที่ศิลปินอันเป็นผู้วิเศษและเล่นแร่แปรธาตุกับความหมายของสังคมไปจนถึงสิ่งต่างๆในโลกนี้ต้องทำหน้าที่พางานหรือระบบการทำงานของตนไปอยู่

งานส่วนใหญ่ของ Anish Kapoor มักเล่นกับสีและวัสดุ และบางครั้งก็พูดถึงวัตถุในความหมายที่ไม่ใช่ความหมายจริงของวัตถุนั้นเอง ( object as non-object ) บางครั้งก็ไปไกลถึงการเล่าเรื่องพื้นที่และบริบทโดยรอบและแทบจะกลายเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบกลายๆไปในบางครั้ง ตัวอย่างงานของลุง Anish มีมากมายหลายชิ้น ดีงามทั้งสิ้นยกมาเล่าหมดคงไม่ไหว 555  ขอให้ลอง Google ดูภาพและลองตีความเอาเองกับสถานที่และบริบทที่ชิ้นงานวางอยู่ ( Jay : จากที่เล่าไปแล้วข้างต้นว่าศิลปะของ Anish ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำไปตีความกับประสบการณ์ของผู้ชมเอง เราเองคงเล่าว่าเราตีความอย่างไรหมดไม่ได้นะฮะ 55 แถมการอธิบายงานในทอร์คบางครั้งลุง Anish แกก็อธิบายงานตรงไปตรงมามาก เช่น “นี่คือท่อที่ทำด้วยทองแดงที่ไปจัดแสดงที่แวร์ซาย ดูไม่เซกซ์ชั่วเลยใช่ไหม? ผมแค่เรียกมันว่า “เธอ” แล้วก็เลยมีคนเอาไปตีความเป็นช่องคลอคของมารีอังตัวเนตซะอย่างนั้น ประสบความสำเร็จมากนะในความคิดผม” แล้วลุงก็หัวเราะชอบใจ อะไรแบบนี้เป็นต้น  -..- )

หลังการเล่าถึงงานแบบตรงไปตรงมาแล้วก็มี Q & A ตามปกติ ซึ่งมีหลายคำถามที่น่าสนใจ เช่น การพูดถึงว่างานประติมากรรมชิ้นนึงเมื่ออยู่ในบริบทที่ต่างกันจะมีผลกับความหมายของงานไหม และการทำงานโดยไม่ตั้งใจพูดถึงความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยจะทำได้จริงหรือ ซึ่ง Anish ตอบว่าเขาเชื่อว่าการทำงานของเขาบางครั้งก็คล้ายๆกับการทำซ้ำหรือการครุ่นคิด( meditation ) ที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึงสิ่งใดเลยก็ได้ และเขาไม่เชื่อในความคิดที่งานศิลปะต้องนำเสนอสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ( I don’t believe in the idea of delivering meaning ) เพราะถ้าศิลปินยื่นความหมายให้แก่ผู้ชมทั้งหมดแล้วผู้ชมจะเหลือหน้าที่อะไร และเขาไม่สนใจในการยื่นความหมายให้เพียงด้านเดียว เป็นต้น

คำถามหนึ่งที่เราชอบมากและเป็นการสรุปจบในการทอร์คครั้งนี้ของเราคือคำถามที่มีคนถามว่างานประติมากรรมจะมีทิศทางต่อไปในยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทุกอย่างอยู่ในโลกเสมือน ซึ่งลุง Anish ตอบว่าเขาไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้หรอกว่าจะเป็นอย่างไร แต่เขาเชื่อในปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและประสบการณ์ที่หนึ่งที่ค้นพบเอง( first-hand experience ) ว่ามันมีความสำคัญและเป็นน่าจะยังเป็นศูนย์กลางปฏิสัมพันธ์ของสังคมเสมอไม่ว่าจะในยุคใดก็ตาม ไอเราที่นั่งฟังอยู่ก็แทบจะอยากลุกออกจากห้องแล้วเดินไป Brooklyn Bridge Park เลิกดูงานจากสไลด์โชว์ทันทีกันเลยทีเดียว 55

Descension เป็นงานประติมากรรมน้ำหมุนขนาดเส้นผ่านผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร ตั้งอยู่ที่ Brooklyn Bridge Park ในนิวยอร์ค เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 กันยายนปีนี้ รีบไป first-hand experience กับงานของลุงซะแล้วมาคุยกันต่อได้เลยฮะ :)





ปล. 
ถึงแม้ลุงจะพูดว่าไม่สนใจการเมืองแต่ก็ให้สัมภาษณ์กับหลายสื่อว่า "In New York at this moment, yes descension!”  นะฮะ ขี้โกงจริงๆ 55
ปล. 2  
Descention (n.) : An act of moving downwards, dropping, or falling.