Paul Ramirez Jonas : Half Truths
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามในโลกอย่างน้อยเราก็คงต้องเคยได้ยินข่าวหรือคนพูดถึงปัญหาผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยถึงแม้ปัญหานี้ช่างดูเหมือนจะยิ่งใหญ่และไกลตัวเราไปมากสำหรับบางคน แต่ถ้าลองคิดจริงๆแล้วปัญหาผู้อพยพลี้ภัยนี้มันอาจจะใกล้ตัวกว่าที่พวกเราคิดกันมากนัก ลองคิดถึงอากงอาม่าเราที่หนีความยากจนมาจากเมืองจีน หรือพี่คนงานพม่าที่เสริฟข้าวคุณเมื่อกลางวันนั่นแหละเขาก็คงเจอปัญหานี้ เพื่อนๆหลายคนของคุณที่มีโอกาสมาเรียนต่อแล้วอยากจะอยู่ทำงาน อยากจะมาสร้างเนื้อสร้างตัวในต่างประเทศแท้จริงแล้วก็น่าจะนับคนเหล่านี้เป็นผู้อพยพได้ และเขาก็อาจจะกำลังต่อสู้กับปัญหานี้อยู่เช่นเดียวกัน
ตัวเราเองเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาชีวิตก็บังเอิญพาให้ต้องมาต่อสู้กับ USCIS ( U.S. Citizenship and Immigration Service ) ในฐานะผู้อพยพลี้ภัยอย่างจริงจังอยู่เหมือนกัน โดย mission หลักแบบสรุปง่ายๆของการขอสิทธิผู้อพยพให้สำเร็จก็คือการสร้าง “ความจริงที่น่าเชื่อถือ” ทำอย่างไรก็ได้ให้ USCIS เชื่อว่าสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นเรื่องจริงและ USCIS สมควรที่จะพิจารณา “ความจริง” ที่เราเล่านั้นว่าเราสมควรได้อพยพเข้าสู่อเมริกาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดย “ความจริง” เหล่านี้ต้องสามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็น ใบเกิด ใบสมรส ใบรับรองแพทย์ จดหมายรับรอง Statement บลาบลาๆ หาอะไรมาได้ก็ต้องให้เขาไปให้หมด ซึ่งระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรับรอง “ความจริง” จากสารพัดเอกสารและจดหมายเหล่านี้จะต้องผ่านระบบที่เรียกว่า Notary Service
Notary Service เป็นระบบที่ไม่มีในประเทศไทยและประเทศเอเชียในหลายๆชาติ แต่สรุปง่ายๆได้ว่า Notary Service ก็คือแก้งทนายที่ทำหน้าที่ให้บริการการยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายแก่เอกสารต่างๆที่ที่เราหามานั่นแหละว่าเป็นเรื่องจริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราขอจดหมายรับรองจากอาจารย์คนหนึ่งให้เขาแนะนำว่าเราเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยมสุดของเขา อิ Notary ก็จะเข้ามาเป็นมือที่สาม คือเมื่ออาจารย์ท่านนี้จะเซ็นชื่อที่ท้ายจดหมายที่เขียนรับรองให้เรานั้นอาจารย์จะมาเซ็นเงียบๆคนเดียวที่โต๊ะทำงานไม่ได้ อาจารย์จะต้องทำการนัดแนะกับทนายของ Notary Service และมาเซ็นต่อหน้า Notary โดยมีลายเซ็นของทนาย Notary กำกับเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเมื่อรัฐต้องการจะตรวจสอบ “ความจริง” จากเอกสารแนะนำว่าเราเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยมสุดของอาจารย์คนนี้นั้นจะเชื่อถือไม่ได้และกลายเป็นเรื่องโกหก เพราะรัฐไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันความจริงเอากับใครได้
เกริ่นลากแม่น้ำทั้งห้ามาเสียยาว 55 เอาจริงๆคือเพิ่งได้มีโอกาสได้แวะไปดู “Half Truths” ของ Paul Ramirez Jonas ที่ New Museum เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แล้ว Paul ได้นำเอา Notary Service มาใช้เป็นส่วนประกอบในการนำเสนองานซึ่งส่วนตัวเราชอบมากเลยอยากจะมาเม้าให้กันฟังเท่านั้นเอง :D
Paul Ramirez Jonas เกิดที่แคลิฟอร์เนียแต่เติบโตที่ฮอนดูรัสเลยถือสองสัญชาติทั้งฮอนดูรัสและอเมริกัน ทำงานมันทุก medium ทั้งวาด ทั้งปั้น วีดีโอและ large scale installation งานส่วนใหญ่จะใช้ผู้เข้าชมเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนเติมเต็มของงาน ( โดยตัวเขาเองเข้าร่วมเป็น performer ในหลายครั้ง ) พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคน สังคม และเมืองไปจนถึง Institutions ต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกิจกรรมความเป็นมนุษย์ของเรานั่นแหละ
Paul Ramirez Jonas : Half Truths แสดงงานแยกย่อยเป็นสองส่วน คือ Alternative facts และ Fake ID โดยทั้งสองส่วนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมร่วมทดลองทำกิจกรรมตาม instruction ที่ศิลปินได้กำหนดไว้คร่าวๆ
Fake ID เป็นกิจกรรมที่ Paul ออกแบบให้ผู้เข้าชมได้มีโอกาสร่วมกันสร้าง ID card ในฝันที่ตนอยากได้ โดยการแลกเปลื่ยนอัตลักษณ์ที่เรามีกับผู้ร่วมเข้าชมงานคนอื่น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะถูกขอให้นำเอาบัตรทุกอย่างที่มีอยู่ เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ บัตรเครดิต บัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้มชาไข่มุกหรือบัตรอะไรก็ตามที่มีติดตัวอยู่ในขณะนั้นมาแลกเปลื่ยนกันในกลุ่มผู้เข้าร่วมเพื่อสร้างเป็น ID ใหม่ของตัวเองขึ้น
Alternative facts เป็นกิจกรรมที่ศิลปินใช้ Notary Service ( ที่เล่าลากแม่น้ำทั้งห้ามาก่อนหน้านี้เสียซะยืดยาวนั่นแหละ 55 ) มาเป็นวิธีในการเปิดบทสนทนากับผู้เข้าชม โดย Paul เปิดโอกาสผู้ชมนำเอาคำพูด ความคิด หรือ Statement ที่ต้องการให้เป็น “ความจริง” มาให้เขาทำหน้าที่เป็น Notary ให้โดยเอกสารหลังจากการ Notary จะถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือให้เขาเก็บไว้และนำไปจัดแสดงส่วนนึงและผู้เข้าร่วมเก็บไว้เองส่วนนึง ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมจะถูกขอให้นำเอาเศษเหรียญเหรียญที่มีติดในกระเป๋าไปทำเป็นเหรียญทองปลอมก่อนเพื่อมาใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการขอ Notary Service จากเขาด้วย
ความน่าสนใจในงานของ Paul Ramirez Jonas ส่วนตัวสำหรับเราที่ชอบมากคือมันมีเลเยอร์ที่น่าสนใจทั้งในเสกลใหญ่แบบ Public Trust และในเสกลเล็กที่มีความเป็น Private มากๆจากการเลือกให้ผู้เข้าร่วมงานนำเอาความลับหรือความคิดของตัวเองออกมาเล่าผ่าน Notary Service ที่ในความเป็นจริงมีต้องความเป็นส่วนตัวมากมาแบ่งปันให้ผู้อื่นรู้ หรือแม้แต่กระทั่งการแบ่งปัน Identity ของเราไปให้กับคนแปลกหน้า
แถมตัวงานเองที่เลือกพูดถึง( เอาจริงๆก็ตั้งชื่อ “Alternative Facts” ตรงไปตรงมาเลยด้วยน่ะนะ 55 )ก็ค่อนข้างมีความเป็นการเมืองซ่อนอยู่และเล่นกับ Political Climate ของอเมริกาในปัจจุบันที่มีประธานาธิบดีแบบทรัมป์ที่อยู่ๆก็ชอบออกมาพูดหรือ tweet อะไรบ้าบอๆตรวจสอบอะไรแน่นอนไม่ได้ในขณะนี้ได้น่ารักมากทีเดียว
Paul Ramirez Jonas : Half Truths ถึงแม้จะจัดแสดงวันสุดท้ายไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่ New Museum และเราเองก็ไปทันวันสุดท้ายแบบรีบเร่ง แถมแบทมือถือก็หมด( รูปจากงานคราวนี้เลยแอบต้องขอความช่วยเหลือจากอากู๋เสียซะเยอะเลย =“= ) ได้ลองเข้าไปเล่นแค่ Alternative facts เท่านั้นเองด้วยเนื่องจากไม่สามารถผ่าดงกลุ่มคนและแก้งเด็กๆที่ต่อแถว Fake ID เข้าไปไม่ไหว แต่ก็อยากจะจดคุณ Paul เอาไว้ในลิสต์ของศิลปินคูลๆของเราอีกคน และแบ่งประสบการณ์กับแชร์ความคูลของ Paul Ramirez Jonas และ Half Truths ของเขามาให้อ่านกันฮะ : )